วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

คุณขายอะไร เค้า (บริษัท) ซื้ออะไร

จริง ๆ ว่าไปแล้วการหางาน ก็เหมือนกับการขายของ โดยปกติเราซื้อของสักอย่าง เราจะซื้อจากอะไรนะคะ? หลายคนอาจจะซื้อเพราะความสวยงาม ถูกใจ (Fashion) หลายคนอาจจะซื้อเพราะเป็นสิ่งที่ทำได้หลากหลายอย่าง (Multi-function)  หรือ หลายคนอาจจะซื้อเพราะราคาถูก (Inexpensive) อย่างไรก็แล้วแต่ ก่อนที่คนจะซื้อมันก็ต้องมีการนำเสนอขายก่อน เสร็จแล้วคนซื้อถึงจะตัดสินใจว่าจะซื้อด้วยเหตุผลอะไร ใช่หรือไม่คะ^^

ซึ่งก็ไม่ต่างจากการที่เราไปสัมภาษณ์งาน ก็เปรียบเสมือนเรากำลังขายสินค้า นั่นก็คือ ความรู้ ความสามารถ ทักษะ หรือ บุคลิกภาพ หรือ มันสมอง ของเรานั้นเอง เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงสินค้าตัวนี้ ว่า เรามีคุณสมบัติอะไร เป็นคนลักษณะแบบไหน มีจุดแข็ง จุดอ่อน หรือ มีแรงบันดาลใจได้ด้วยวิธีใด การที่เรารู้ตัวเราดีขนาดไหน นั่นย่อมทำให้เราขายสินค้าในความเป็นตัวเราได้ดียิ่งขึ้น แต่ถ้าเรายังสับสนตัวเอง ยังสับสนกับเป้าหมายในชีวิตอยู่ แนะนำทำการบ้านดี ๆ ก่อนไปสัมภาษณ์ดีกว่า หรือ อย่าเพิ่งไปเลยจะได้ไม่เสียเวลา

คนสัมภาษณ์งานสมัยนี้เค้าจะมีเครื่อมือมากมาย ดังที่กล่าวไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ดังนั้นถ้าเราไปสัมภาษณ์แล้วไม่มั่นใจว่าเราจะขายสินค้าตัวเองให้เค้าซื้อไม่ได้ อย่าไปเลยค่ะ เปลืองค่ารถค่าน้ำมัน แต่ถ้าจะไปสัมภาษณ์เพื่อเอาประสบการณ์อันนี้ก็โอเคนะคะ ไม่ว่ากัน

จริง ๆ สมัยนี้จะมีแบบทดสอบทางด้านพฤติกรรม หรือ บุคลิกภาพมากมาย ที่เราสามารถเข้าไปทำฟรี แล้วพิมพ์ออกมาได้เป็นเอกสาร ตอนที่เราไปสัมภาษณ์เราอาจจะยื่นเอกสารที่เป็นรายงานบุคลิกภาพของเราให้ผู้สัมภาษณ์ดูและอธิบายได้ว่า บุคลิกแบบเรานี้ จะสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรได้อย่างไรบ้าง รวมถึงจุดแข็งของเราที่สามารถช่วยองค์กรได้อย่างไร และจุดอ่อนของเรานั้น เราจะทำการปรับปรุงหรือจัดการมันอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน

ทัศนคติ และหลักคิด ของเราเป็นแบบไหน เราเข้าใจตนเองมากน้อยขนาดไหน ว่าเราเป็นคนที่มีทัศนคติการมอง การใช้ชีวิต มีหลักคิดในการทำงาน การตัดสินใจ การแก้ไขปัญหา อย่างไร เหล่านี้บางบริษัทก็อาจจะมีเครื่องมือวัดได้เช่นกัน ดังนั้นเราก็ต้องฝึกคิดบวก มีความสุขอยู่กับปัจจุบัน หมั่นขวนขวายหาความรู้ และนำไปทดลองฝึกปฏิบัติ ทบทวน ปรับปรุง แก้ไข โดยใช้หลัก DIKW (Data, Information, Knowledge and Wisdom) เพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ที่สร้างด้วยมือของเราเป็นต้น

อาจจะสรุปโดยย่อว่า “คุณขาย(สินค้า = ตัวเรา)” ได้อย่างไรดังนี้


  1. ความรู้อะไรที่เรามีแต่คนอื่น ไม่มี หรือ ความรู้ที่จำเป็นกับงานนั้น ซึ่งเรารู้แบบรู้ลึกรู้จริง 
  2. ความสามารถ หมายถึง ทักษะหรือการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่มันโดดเด่นมากสำหรับคุณ เช่น ทักษะการใช้สูตรเอ็กเซล ที่ซับซ้อนได้  หรือ ทักษะการพูดได้หลายภาษา  หรือ ทักษะการพูดที่โน้มน้าวให้คนอื่นเชื่อได้ง่าย หรือ ทักษะความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถคิดนอกกรอบ คิดสิ่งใหม่ ๆ ได้ เป็นต้น
  3. พฤติกรรม ที่เหมาะกับองค์กรหรือบริษัท นั้น ๆ เราต้องรู้ก่อนว่าบริษัทที่เรากำลังไปสัมภาษณ์นั้น เคามีพฤติกรรมร่วมคืออะไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้หาได้ง่ายมากจากเว็บไซด์ของบริษัทเค้านั้นเอง เช่น ค่านิยมหลักขององค์กร เอ คือ ความรวดเร็ว (Speed) เราก็ต้องกลับมาดูตัวเราเองก่อน ว่าเรามีพฤติกรรมที่ทำอะไรรวดเร็วหรือไม่ ถ้าพฤติกรรมเราเป็นคนช้ามาก แบบนี้ก็ยากที่จะบริษัทจะรับเข้าทำงานในตำแหน่งที่สำคัญ เป็นต้น
  4. บุคลิกภาพ โดยส่วนใหญ่เวลาบริษัทเปิดรับสมัครงาน เค้าจะบอกบุคลิกภาพที่เค้าต้องการไว้เรียบร้อย ดังนั้นตอนอ่าน Job Post หรือ ประกาศรับสมัครงาน ต้องอ่านให้ละเอียด เช่น เค้าแจ้งว่าต้องเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพที่สามารถไปปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้ง่าย สามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้เร็ว (Interpersonal) เราก็ต้องกลับมาทบทวนตัวเราเองว่าเราเป็นคนที่ชอบสังคมไหม ชอาบในการเค้าหาผู้อื่นหรือเปล่า มีบุคลิกภาพที่เปิดเผย ทำให้คนอื่นไว้วางใจได้ง่ายและรวดเร็วไหม เป็นคนที่เข้าถึงคนอื่น หรือ คนอื่นเข้าถึงตัวเราเองได้ง่ายไหม ซึ่งเหล่านี้ก็มีผลต่อการตัดสินใจในการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานในองค์กรด้วยเหมือนกัน
  5. ทัศนคติ โดยรวมสมัยนี้ เค้าจะมีแบบวัดทัศนคติโดยเฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่คนที่คิดลบ และเห็นแก่ตัว (Negative Thinking and Selfish) บริษัทหรืองค์กรจะไม่มีทางรับเข้ามาทำงานแน่นอน เพราะพัฒนายากและเสียเวลา อีกทั้งพอเข้ามาอาจจะทำให้คนอื่นๆ ที่คิดบวก คิดดี เปลี่ยนความคิด แล้วเกิดความเสียกับองค์กร อันนี้อันตรายมาก เค้าก็จะระวังและมีการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้แน่นอน
  6. แนวคิด หรือ หลักคิด หลายคนอาจจะคิดว่าไม่สำคัญ แต่บางองค์กรให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะในตำแหน่งใหญ่ การที่คนหนึ่งคนที่เป็นพนักงาน ทำงานแบบทำไปวัน ๆ หรือ ทำไปแบบไม่รู้ ไม่เข้าใจ ว่าทำไมถึง ไม่รู้ที่มาที่ไป ไม่มีแนวคิด หรือ หลักคิดให้ยึดในการทำงาน บางทีอาจจะถามถึงหนังสือที่เราชอบ แนวคิดหรือหลักคิดของการเขียนหนังสือเล่มที่เราอ่านเป็นอย่างไร เพื่อพิสูจน์ว่าเราอ่านแล้วสรุปประเด็นหรือได้หลักคิดอะไรบ้างจากการอ่านหนังสือ เป็นต้น
  7. ประสบการณ์ หรือ การเรียนรู้ผ่านกระบวนการที่ปฏิบัติอย่างเคี่ยวกรำ สิ่งนี้ก็เป็นคุณสมบัติชั้นดี ที่เราสามารถขายได้อย่าภาคภูมิใจว่าเราได้ผ่านอะไรมา และมีการเรียนรู้ตกผลึกเป็นองค์ความรู้ของเราอย่างไร และจะนำไปต่อยอดได้อย่างไร 

สุดท้ายอยากฝากไว้ “เค้าซื้ออะไร” ไม่สำคัญเท่า “เราขายอะไร” การที่อยากดีมานด์ของลูกค้าง่ายนิดเดียวเข้าไปอ่านในประกาศรับสมัครงานนั่นแหละค่ะ ส่วนเรามีดีอะไรจะขาย อันนี้ก็ฝากเป็นการบ้านไปคิดนะคะ ว่าเราดีพอที่ลูกค้าเค้าจะจ่ายเงินแพง ๆ เพื่อซื้อเราหรือเปล่า...สู้ ๆ ค่า^^