วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2559

หางานแบบไหนที่เหมาะสมกับตัวเรา


หางานให้เหมาะกับตัวคุณ
จริงๆ แล้ว เรื่องหางานไม่ใช่เรื่องยาก สมัยนี้ไม่ต้องซื้อหนังสือหางาน และตระเวนไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อสมัครงาน เรียกได้ว่า เดินกันจนรองเท้าสึกไปเป็นคู่ๆ ก็ยังหางานที่ดี ที่ถูกใจไม่ได้เลย แต่ยุคโลกออนไลน์ให้ประโยชน์ในทุกๆ เรื่อง เพียงแค่ลากเม้าส์ แล้วคลิกดูข้อมูลที่สนใจ อย่างเช่น ตำแหน่งงานว่าง หรือองค์กรที่เปิดรับสมัครงานที่อยู่ในความสนใจ

จากนั้นก็เริ่มต้นสมัครงานออนไลน์ โดยส่งประวัติการศึกษา ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา เสนอเงินเดือนที่ต้องการ แล้วนั่งรอเมล์ที่จะตอบรับกลับมา ไม่ว่าจะตอบรับหรือปฏิเสธ ก็ถือว่าสะดวกสุดๆ แล้ว เพราะในแต่ละวัน เราสามารถหางาน และสมัครงานได้เป็นสิบๆ ที่โดยไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการออกจากบ้านเลย

แต่งานแบบไหนล่ะที่จะเหมาะสมกับตัวเรา เรื่องนี้สำคัญมาก นับตั้งแต่เริ่มสอบเข้าเรียนต่อ หลายๆ คนเลือกเรียนตามกระแสสังคม อย่างเช่น วิศวกรรมศาสตร์, รัฐศาสตร์, นิติศาสตร์, นิเทศศาสตร์ ฯลฯ โดยลืมดูว่าตัวเราเองนั้น มีความถนัดในด้านไหนกันแน่ บางคนถนัดด้านศิลป์ มีความคิดสร้างสรรค์ในด้านการออกแบบ วาดภาพ แต่จะเลือกเรียนตามความถนัด ก็เกรงว่า เมื่อเรียนจบออกมาแล้ว จะหางานไม่ได้ ก็เลยไปเลือกเรียนบัญชี หรือวิศวะ โดยหารู้ไม่ว่า การเรียนอะไรที่ถนัด เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเราสามารถดึงความสามารถที่แฝงอยู่ในตัวเรา ออกมาใช้ได้ และสร้างสรรค์วิชาชีพได้ดีกว่า

สำหรับคนมีเหตุผล ชอบอยู่กับตัวเลข สามารถนั่งทำงานนิ่งๆ ได้เป็นเวลานานๆ ก็น่าจะเหมาะสมกับงานด้านการบริหารจัดการ หรือบัญชี แต่ถ้าเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ กระตือรือร้น ชอบพบปะผู้คน ควรจะเลือกงานประเภทประชาสัมพันธ์ หรือโฆษณา สื่อสารมวลชน สำหรับคนที่มีความอ่อนไหว มนุษยสัมพันธ์ดี ก็เหมาะกับงานประเภทงานบริการ ทั้งนี้การเลือกงานให้เหมาะสมกับตัวเรา ก็ต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกเรียนสาขาวิชาชีพต่างๆ จึงจะสามารถวางแผนการหางานได้ดี

อีกหนึ่งทางเลือกที่คนส่วนใหญ่มักจะนำมาเป็นเหตุผลในการเลือกงาน ก็คือสถานที่ทำงาน หรือหน่วยงานที่อยู่ในความสนใจ ทั้งนี้ต้องประเมินขีดความสามารถเฉพาะตัวกันด้วย ยกตัวอย่างเช่น บริษัท การบินไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นที่นิยมในหมู่คนหางาน แน่นอนว่า คนที่จะผ่านกระบวนการคัดเลือกเข้าไปเป็นพนักงานของบริษัทการบินไทยนั้น ต้องมีความสามารถด้านภาษาเป็นที่โดดเด่น ดังนั้นตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี ก็คงต้องขวนขวายเรียนรู้ด้านภาษาเพิ่มเติม เมื่อจบออกมาก็มุ่งมั่น ตั้งใจที่จะสอบเข้าทำงานให้ได้ ซึ่งก็มีหลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จ เดินตามความฝันได้อย่างภาคภูมิ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น